วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

เยี่ยมเยือนนครแพร่ ถิ่นหม้อห้อม และเมืองลับแล อุตรดิตถ์

                ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนเลยว่าไม่เคยเขียนกระทู้หรือบล็อกใดๆ มาก่อนในชีวิต นี่เป็นครั้งแรกที่ลองเขียนเล่าเรื่องประสบการณ์ท่องเที่ยวที่จังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์      ซึ่งทริบนี้ตั้งใจมาร่วมงานแต่งงานของรุ่นน้องคนหนึ่ง เราใช้เวลาเพียงสามคืนสี่วัน แถมขับรถมาไกลจากจังหวัดประจวบจึงมีเวลาน้อยมากในการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ลองติดตามชมกัน
                ออกจากประจวบตีสี่ครึ่ง ไปถึงแพร่ประมาณบ่ายสามโมงกว่า เข้าพักที่ ไดม่อนรีสอร์ท ซึ่งเป็นที่พักริมทางเล็กๆ ราคาประมาณ 400-500 บาท ห้องพักก็โอเคเหมาะสมกับราคา ไม่มีอาหารเช้ามีแต่กาแฟและขนมปังให้ ที่พักนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 10 กว่ากิโล ถือว่าไม่ไกลมากครับ

                เย็นๆ ค่ำๆ ออกไปเที่ยวชมตัวเมืองสักหน่อย จากการศึกษาข้อมูลในพันทิปทำให้เราต้องตามไปกินเย็นตาโฟและไอติมนมสดที่ตลาดประตูชัย
                เย็นตาโฟ เจ้านี้ขึ้นชื่อมากว่าอร่อย รสชาติออกหวานๆนิดส์นึง คนรอต่อคิวยาวเหยียด เมื่อได้ลองชิมแล้วรสชาติก็ไม่ได้อร่อยเว่อร์อย่างที่นึกภาพไว้ อันนี้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนครับ  จากประสบการณ์ผมว่าที่อื่นๆ อร่อยกว่าตั้งเยอะ ที่ไม่ชอบคือ แม่ค้าดุมาก ขอเอาอาหารร้านข้างเคียงมานั่งกินด้วย เจ้ไม่อนุญาต แม้บอกว่าจะเอาจานไปคืนที่ร้านเอง ก็ไม่ยอมและชักสีหน้าใส่ แถมยังแกล้งให้นั่งรอนานกว่าจะได้กิน ประมาณ 20 นาที ทั้งๆที่มาก่อนคิวอื่นๆอีก ลองชิมครั้งเดียวคงเกินพอครับสำหรับร้านนี้
                และร้านที่อยู่ติดกันนั้นคือร้านไอติมนมสด ร้านนี้ผมชอบและแฮบปี้มาก ไอติมนมสดปั่น หอมนุ่มละมุนลิ้น ไม่หวานมากจนเกินไป สลิ่มก็อร่อยครับ 
            

 เมื่อกินอิ่มแล้วก็ขับรถชมรอบเมือง เนื่องจากวันรุ่งขึ้นเราต้องมาร่วมงานแต่งงานที่โรงแรมในตัวเมืองครับ ตัวเมืองแพร่เป็นตัวเมืองเมืองเล็กๆ ถนนก็เล็กๆ อบอุ่น นักท่องเที่ยวไม่เยอะมาก หรืออาจเป็นเพราะวันที่ผมไปเป็นวันธรรมดาก็เป็นได้ แต่ผมชอบครับคนไม่พลุกพล่านเมืองเชียงใหม่
                เช้าวันรุ่งขึ้นผมไปร่วมงานแต่งพิธีเช้า กว่าจะได้เที่ยวก็ปาไปเที่ยงละครับ เช็คเอ้าท์ออกจากไดม่อนรีสอร์ท มุ่งหน้าไปเที่ยวในตัวเมืองแพร่ เริ่มกันที่แรกคือ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรมหาวิหาร วัดนี้มาจากสองวัดรวมกันคือ วัดพระบาท และวัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ห่างกันเพียงมีถนนกั้นเท่านั้นครับ วัดพระบาทเป็นวัดของอุปราชหรือเจ้าหน้าหอ ส่วนวัดมิ่งเมืองเป็นวัดของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ทางจังหวัดเห็นสมควรรวมสองวัดเข้าด้วยกัน และใช้ชื่อว่า วัดพระบาทมิ่งเมือง มาจนทุกวันนี้ วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่และยังมีพระเจดีย์มิ่งเมือง ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีรอย พระพุทธบาทจำลองอยู่ภายใน เสียดายไฟล์รูปหายไป จึงเหลือให้ชมเพียงเท่านี้ครับ




 คุ้มเจ้าหลวง ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ เดิมเป็นบ้านของเจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้ายชื่อ เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรฯ หรือพระยาพิริยวิไชย ที่นี่เป็นสถานที่ใช้ถ่ายละครเรื่อง “รอยไหม” จำกันได้หรือไม่ครับ ที่นี่สวยมาก วันที่ผมไปไม่มีมัคคุเทศก์บรรยาย พูดใหม่คือ ไม่มีใครซักคนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แถมบรรยากาศวังเวงมาก บรรยากาศอึมครึมเพราะฝนกำลังจะตกซะด้วย รู้มาว่าที่นี่มีคุกใต้ดินแต่ผมไม่ได้ลงไป เพราะหาทางลงไม่เจอ ละแวกคุ้มเจ้าหลวงมีบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ชาวแพร่คนหนึ่งเล่าว่าบ้านพักนี้ไม่มีใครอยู่ เพราะคุ้มเจ้าหลวงผีดุ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่

              


 เราไปต่อกันที่คุ้มวงศ์บุรี หรือบ้านวงศ์บุรี เป็นบ้านของเจ้าพรหม (หลวงพงษ์พิบูลย์) ผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองแพร่ และเจ้าสุนันทา วงศ์บุรี ธิดาเจ้าบุรี (พระยาบุรีรัตน์) สร้างในปี พ.ศ. 2440 เรือนหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2536 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์


            จากนั้นแวะชิมขนมจีนน้ำเงี้ยวฝีมือชาวไทยพวน หมู่บ้านทุ่งโฮ้งกันซักหน่อย น่าตาเป็นแบบนี้ครับ รสชาติออกจะหวานๆ น้ำเงี้ยวไม่เข้มข้นเหมือนของทางเชียงรายสักเท่าไหร่
ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเชียงขวาง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเวียงจันทร์ สาเหตุการอพยพมาไม่ทราบแน่ชัด ภาษาพูดฟังดูแปลกๆ ไม่คุ้นหู
มาถึงหมู่บ้านทุ่งโฮ้ง ชื่อเดิมเรียกว่า บ้านทั่งโห้งคำว่า ทั่ง หมายถึง ทั่งที่รองรับการตีเหล็ก และคำว่า โห้งเป็นภาษาไทยพวน หมายถึง สถานที่ ที่เป็นแอ่งลึกลงไปเป็นรูปก้นกระทะ คนพวนเรียกว่ามันโห้งลงไป ซึ่งอาชีพดั้งเดิมของคนพวนบ้านทุ่งโฮ้งคืออาชีพตีเหล็ก และจะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ เดี๋ยวนี้ผ้าหม้อห้อมนำมาตัดเป็นชุดต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น หากมีโอกาสลองแวะดูนะครับ
เมื่อช้อบกันหนำใจแล้วไปต่อกันที่วัดจอมสวรรค์ วัดนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวเงี้ยว ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในพม่า และได้เดินทางมาค้าขายที่เมืองแพร่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ วัดจึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ต่อมาได้รับการบูรณะจากชาวไทยใหญ่ ผมมีโอกาสไปเที่ยววัดที่สร้างด้วยศิลปะพม่ามาหลายที่ครับ ซึ่งมักจะสร้างคล้ายๆ กัน คือ วิหารจะสร้างทรงแบนแนวนอน ไม่ได้สร้างทรงลึกเหมือนวัดบ้านเรา และจะเน้นตกแต่งทำเพดานด้วยกระจก วิจิตรงดงามมาก

เช้าวันถัดมาเรามุ่งหน้าไปสักการะพระธาตุช่อแฮกันครับ ไม่งั้นถือว่ามาไม่ถึงเมืองแพร่ องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีขาล โชคดีที่วันที่ผมมาไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เห็นมีแต่เด็กนักเรียนมาติวสอบเอ็นทรานซ์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ใช้สถานที่ของวัดสร้างความรู้ให้กับเด็กและเยาวชน

บ่ายแก่ๆ เรามุ่งหน้าไปอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งความตั้งใจของผมคือมาชิมทุเรียนหลงลับแล แต่น่าเสียดายที่หมดฤดูกาลของหลงลับแลแล้ว เมืองลับแลอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก ชาวลับแลคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ลับแล มาจากคำว่า ลับแลง เมืองที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเร็ว อันเนื่องมาจากเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยป่า ทำให้มืดเร็วกว่าปกติ

เมื่อเข้าไปถึงอำเภอลับแลจะเจอประตูเมืองตั้งตระหง่าน ดูสวยและขลังมากครับ ด้านข้างประตูเมืองจะมีรูปปั้นตามตำนานที่เล่าขานกันมาเรื่องเมืองลับแล

                           
มีชายคนหนึ่งเข้าไปในป่า ได้เห็นผู้หญิงหลายคนเดินออกมาจากป่า เอาใบไม้ที่ถือมาซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง ชายคนนั้นเกิดความสงสัยเลยไปแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ พอบ่ายๆ เมื่อสาวๆ เหล่านั้นกลับมาก็หาใบไม้และเข้าไปในป่าตามเดิม แต่ด้วยชายหนุ่มคนนั้นขโมยใบไม้มา 1 ใบ ทำให้หญิงสาว 1 คนกลับเข้าไปไม่ได้ ชายหนุ่มปรากฏตัวออกมาพร้อมยื่นข้อเสนอว่าต้องให้เข้าไปเขาเข้าไปในป่าเมืองลับแลด้วยถึงจะคืนใบไม้ให้ สาวเจ้าไม่รู้จะทำยังไงก็เลยต้องยอมให้ไปด้วย และได้รักกันและแต่งงาน อยู่กินจนมีลูก 1 คน วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มเลี้ยงลูกน้อยอยู่และเด็กก็ร้องไห้ไม่หยุด พ่อจึงพูดปลอบว่า เดี๋ยวแม่ก็มาแล้ว แม่เมียมาได้ยินเข้าพอดีก็โกรธมากที่เขยพูดโกหก เนื่องจากเป็นกฎเหล็กของเมืองลับแลนี้ว่า ห้ามพูดโกหก เมื่อลูกสาวตนกลับมาถึงบ้านจึงนำความบอกบุตรสาวตน หญิงสาวผู้เป็นภรรยาเสียใจมากที่สามีไม่รักษาสัจจะวาจาและไล่ออกจากเมืองลับแล โดยก่อนสามีออกจากเมืองนางได้หาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี และขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมากระหว่างเดินทางออกจากป่า ชายหนุ่มรู้สึกถุงย่ามหนักขึ้นทุกทีๆ แถมทางก็ไกลมาก จึงโยนขมิ้นทิ้งไปตามทางเรื่อยๆ จนเกือบหมด เมื่อมาถึงบ้านของตนเองก็เล่าเรื่องราวต่างๆให้ญาติพี่น้องฟัง และเปิดถุงย่ามจะหยิบขมิ้นให้ญาติๆ ดู ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง เขารู้สึกแปลกใจและเสียดายมาก จึงพยายามย้อนกลับเส้นทางเดิมแต่ทว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว ท้ายสุดชายหนุ่มจึงได้กลับไปอยู่บ้านของตนตามเดิม ด้วยเหตุฉะนี้แล  เมืองลับแลจึงเป็นเมืองแม่หม้าย เนื่องจากผู้ชายล้วนชอบพูดโกหก

เมื่อขับรถเข้าไปเรื่อยๆ จะเจอสามแยก เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ ท่านเป็นนายอำเภอเมืองลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้สร้างคุณงามความดีให้กับเมืองลับแลมากมาย ซึ่งคนที่นี่ให้ความเคารพนับถือ
              
              มาถึงเมืองลับแลแล้ว แน่นอนว่าต้องตามไปลิ้มลองอาหารขึ้นชื่อของที่คือ ข้าวพันผัก ไข่ม้วน ณ ร้านตอข้าวพันผัก              
กินอิ่มหนำใจแล้วเรามุ่งหน้าไปที่วัดดอนสัก ไปดูอะไรที่นี่มีบานประตูวิหารที่มีความสวยงามมากที่สุดติด 1 ใน 3 ของประตูวิหารวัดในจังหวัดอุตรดิตถ์ อีก2 วัดที่เหลือคือ บานประตูวิหารวัดพระฝาง และบานประตูพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ บานประตูวัดดอนสักนี้ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยสถาปัตยกรรมเชียงแสนปนสุโขทัย งดงามมากครับ แต่ผมอยากจะให้พัฒนาวัดให้เหมาะสมกับรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่านี้ครับ เนื่องจากวันที่ผมไป วัดดอนสักเหมือนวัดร้างเลยครับไร้ผู้คนและดูน่ากลัว ต้นไม้และหญ้าก็ขึ้นรกไปหมด ผมเลยไม่แน่ใจว่าวิหารวัดดอนสักแห่งนี้ยังเปิดให้ชาวบ้านเข้ามาประกอบพิธีทางศาสนาอยู่หรือไม่

ไปต่อกันที่….ม่อนลับแล ที่นี่เป็นทั้งร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก และร้านขายของฝากของเมืองลับแล ที่ม่อนลับแลนี่เป็นสถานที่ๆ ผมอยากจะมาเยือนมากที่สุดในลับแล เนื่องจากโดยส่วนตัวผมชื่นชอบผ้าทอ และอยากจะชมพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจกมาก ไม่ผิดหวังเลยครับที่มาที่นี่ เนื่องจากพนักงานที่ม่อนลับแลให้บริการลูกค้าดีมากครับ แถมมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเล่าเรื่องต่างๆ ในลับแลให้เราฟังไม่ว่าจะเป็นตำนานเมืองลับแล วิถีชีวิตของชาวเมืองลับแล รวมถึงประวัติความเป็นมาของผ้าทอที่ขึ้นชื่อของที่นี่ครับ
สำหรับผ้าทอที่โด่งดังของเมืองลับแลนั้นคือ ผ้าซิ่นตีนจก จากการบอกเล่าของพนักงานที่ร้านทำให้ทราบว่าผ้าซิ่นตีนจกที่ขึ้นชื่อของประเทศไทยมีเพียง 3 แห่งที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามและนิยมกันมากได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจกของแม่แจ่ม จ. เชียงใหม่ ผ้าซิ่นตีนจกของเสาไห้ จ.สระบุรี และที่ลับแล   แน่นอนครับว่าราคาย่อมสูงเป็นธรรมอันเนื่องมาจากกระบวนการทอที่ละเอียดทุกขั้นตอนและใช้เวลานานมากกว่าที่จะทอได้ 1 ผืน สาวๆ ที่ลับแลในอดีตก่อนจะออกเรือนทุกคนจะต้องทอผ้าให้ได้ 1 ผืน ถึงจะออกเรือนได้ครับ

 มาถึงวัดพระแท่นศิาอาสน์กันครับ...เชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้เพื่อเจริญภาวนา ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เราต้องมองผ่านกระจกที่ติดไว้ด้านบนถึงจะมองเห็นตัวพระแท่นที่อยู่ก้นบ่อครับ เนื่องจากได้ก่อศิลาแลงสูงขึ้นมาเพื่อรักษาพระแท่นจริงๆ ไว้เพื่อป้องกันความเสียหายครับผมสนใจจิตรกรรมฝาผนังของวัดนี้ครับ เป็นภาพตำนานเมืองลับแล สังเกตรูปหญิงสาวสิครับ เหมือนโมนาลิซ่ามั๊ย นี่คือความคิดสร้างสรรค์ของจิตรกรครับ




และวัดที่อยู่ติดกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์คือวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งมีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ มณฑปศิลปะเชียงแสนครอบรอยพระพุทธบาทประทับยืนทำด้วยศิลาแลง และมีหลวงพ่อพระพุทธรังสีประดิษฐานภายในอุโบสถ

และสถานที่สุดท้ายของทริปนี้คือวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ชาวบ้านเล่าว่าบ้านทุ่งยั้งนี้เดิมเป็นเมืองหน้าด่าน ของอาณาจักรสุโขทัย โดยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท เจ้าเมืองสุโขทัย ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในถ้ำใต้ดินโดยขุดลงไปเป็นถ้ำแล้วก่อพระธาตุไว้ โดยสร้างเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมามีการบูรณะเพิ่มเติมโดยพญาตะก่าพ่อค้าไม้ชาวพม่าในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นลักษณะเจดีย์อย่างพม่า แต่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ยอดเจดีย์หักพังลงมา และได้รับการบูรณะในภายหลังจนเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน
จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเลือนหายแทบมองไม่เห็น ป้าที่ขายดอกไม้หน้าวิหารบอกว่าเป็นภาพจิตรกรรมที่เลือนหายไปเป็นเรื่องพระสังข์ทอง ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึง เวียงเจ้าเงาะ และบ่อน้ำทิพย์ ที่อยู่เยื้องไปทางใต้ตรงกันข้ามกับตัววัด ด้วยเวลาจำกัดผมจึงไม่ได้แวะชมครับ      วิหารหลวงสร้างด้วยศิลปะแบบล้านนา



นี่คือรูปโรงแรมที่ผมพักในคืนที่สองครับชื่อ นครแพร่ทาวเวอร์ 




                        
 และที่อุตรดิตถ์คือ อารีย์แมนชั่น ครับ ที่พักเยี่ยมมาก

ขอบพระคุณที่ติดตามชมครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่กำลังหาข้อมูลจะไปท่องเที่ยวเมืองแพร่และลับแลครับ